img

Industry 4.0 กับมิติการพัฒนาวิถีชีวิต

เมื่อพูดถึง Industry 4.0 หรือ อุตสาหกรรม 4.0 คนทั่วไปจะนึกว่าเป็นเรื่องของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แต่ที่จริงแล้วเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายด้าน ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศไต้หวันและเห็นวิธีคิดในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างน่าสนใจ
 
ไต้หวันถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชียในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีหัวหอกสำคัญที่ใช้ในการพัฒนา คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ ความเก่งของไต้หวันในด้านนี้ ถือว่าหาตัวจับได้ยาก บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ และ IT ของไต้หวันหลายบริษัทมีชื่อเสียงในระดับโลก ทั้งที่เป็นผู้รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำอย่างไอโฟน และที่สร้างแบรนด์ขึ้นมาเองอย่าง Asus และ Acer เมื่อแนวคิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เกิดขึ้นมาสอดรับกับความชำนาญด้าน IT ทำให้ไต้หวันใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ 4.0 ภายใต้ชื่อ Smart Factory หลักการอย่าง Cyber-Physical Systems หรือการเชื่อมโยงโลกกายภาพกับโลกดิจิทัล จึงเป็นคำตอบที่เหมาะสมในการนำไปประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างลงตัว

วิธีการของ Cyber-Physical Systems คือ การแปลงข้อมูลของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ มาเป็นข้อมูลดิจิทัลด้วยเซ็นเซอร์ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมและติดตามกระบวนการผลิตตลอดจนวิเคราะห์และประมวลผลจากโจทย์ปัญหาที่ตั้งขึ้น ให้ได้คำตอบหรือวิธีการที่ดี มีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อประสานกับเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้ Cyber-Physical Systems มีพลังยิ่งขึ้นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี


“ การเดินทางเป็นกิจกรรมหลักในวิถีชีวิตของคนกรุง ระบบการขนส่งสาธารณะในกรุงไทเป ถือได้ว่าเป็นระบบที่ทันสมัยมาก ประกอบด้วยรถประจำทาง แท็กซี่ รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถจักรยานเช่าที่เราสามารถยืมรถจากจุดหนึ่งแล้วคืนรถที่จุดอื่นได้ วิธีการเดินทางที่หลากหลายแบบนี้ ทำให้เกิดจำนวนข้อมูลขนาดใหญ่ ที่มีความเคลื่อนไหวทางกายภาพอยู่ตลอดเวลา โจทย์ปัญหาจึงมีความซับซ้อนสำหรับการวิเคราะห์เป็นอย่างมาก  การนำเทคโนโลยียุคดิจิทัลมาใช้ ช่วยให้ผู้โดยสารได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจและอำนวยความสะดวกในการใช้งานรถสาธารณะ นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ”


ถ้าเราต้องการเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง เราจะต้องคิดถึงโจทย์ปัญหาต่างๆ ได้แก่ วิธีการเดินทาง จุดขึ้น-ลงรถ จุดต่อรถ ค่าใช้จ่าย เวลาที่ใช้ สภาพการจราจร หรือแม้กระทั่งลมฟ้าอากาศ สิ่งที่จะทำให้เราสามารถตัดสินใจกับโจทย์ต่างๆ ได้ดี คือ เราต้องรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางครั้งนี้ ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ได้ทางเลือกที่ถูกต้อง แม่นยำ นำไปตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น การนำ Cyber-Physical Systems มาประยุกต์ใช้กับการเดินทางในทุกระบบและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ มาประมวลผลผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ทำให้เราสามารถได้คำตอบถึงวิธีการเดินทางที่มีรายละเอียดถึงจุดของป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้าที่ต้องเปลี่ยนรถ จุดเช่าจักรยาน แผนที่การเดินบนทางเท้า รวมถึงระยะเวลาเดินทาง เวลาถึงที่หมาย และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น


สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในไทเป มีความสะดวกสบายมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยังทำให้ประชากรมีความพึงพอใจ หันมาใช้งานระบบขนส่งสาธารณเป็นจำนวนมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างภาษา ก็สามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย เพราะการออกแบบแอปพลิเคชั่นที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ เน้นการแสดงผลด้วยภาพ ไม่ต้องถามคนไต้หวันที่อยู่ใกล้ๆ จนอาจจะทำให้สื่อสารกันผิดพลาด เรียกได้ว่าเที่ยวได้โดยไม่ต้องกลัวหลง ถ้ามีโทรศัพท์มือถือติดตัว


เห็นความสะดวกสบายแบบนี้แล้วก็อดอิจฉาคนไต้หวันไม่ได้ แต่โจทย์ปัญหายังไม่หยุดแค่นี้ ระบบยังสามารถพัฒนาเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้งานแบบเฉพาะบุคคล โดยอาจเพิ่มข้อมูลร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ที่ผู้ใช้งานชื่นชอบ การคำนวณแคลอรี่ที่ใช้เดินทาง หรือเสนอคูปองส่วนลดสินค้าของร้านที่เดินทางผ่าน สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้ผู้ใช้งานได้รับความพึงพอใจแล้ว ยังทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ และเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับผู้พัฒนาระบบ


ระบบขนส่งสาธารณะของกรุงไทเปเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยียุค 4.0 กับการช่วยให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนสะดวกสบายขึ้น ซึ่งเราคงจะเห็นเทคโนโลยีกับกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวันมากขึ้นในอนาคต ถ้าเราเข้าใจความสามารถของเทคโนโลยี รู้หลักการทำงาน และมองหาโอกาสประยุกต์ใช้จากโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทาย ก็จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ และสังคมได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของเทคโนโลยีไม่ใช่เพียงแค่ภาคอุตสาหกรรม

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th